วิธีเช็กแอปดูดเงินว่ามันในเครื่องหรือไม่ จะป้องกันอย่างไร

วันนี้เราจะมาไขคำตอบพร้อมเฉลย วิธีเช็กแอปดูดเงินว่ามันในเครื่องหรือไม่ จะป้องกันอย่างไร โดยบทความนี้เราได้ความรู้จากคุณ Narun Chanyavilas ที่เป็น IT Security Researcher โดยวันนี้เราจะมาให้ความรู้แก่ท่านผู้อ่านแบบไขหมดหมดเปลือก ถึงขั้นตอนการทำงานของแอพปลอม วิธีตรวจสอบและเมื่อท่านเผลอเรอติดตั้งไปแล้วจะต้องแก้อย่างไร…
วิธีเช็กแอปดูดเงินว่ามันในเครื่องหรือไม่ จะป้องกันอย่างไร BY Narun Chanyavilas
เนื่องจากเวลานี้มีผู้เสียหายจำนวนมากที่ถูกดูดเงินไปหมดบัญชีธนาคาร ตามข่างเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้นวันนี้ทางคุณ Narun เลยจะขอมาแชร์ว่าจริง ๆ แล้วมันมีการทำงานยังไงกันแน่ ทำไมเงินเราถึงหายไปได้ อันที่จริงมีเหตุการณ์ที่อาจเชื่อได้ว่าเป็นแก๊งที่เกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 แล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบดังนี้
แก๊ง Call Center
โทรมาให้เหยื่อทำการติดตั้งโปรแกรมจำพวก TeamViewer เป็นยุคแรกของการหลอกควบคุมเครื่องอย่างแท้จริง โจรจะเข้ามาทำการใช้วิธีทางจิตวิทยา (Social Engineer) เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัว และเปิดเผยข้อมูล จนโจรสามารถโอนเงินออกจากบัญชีลูกค้าได้ในที่สุด
แก๊งโทรมาหลอกให้โหลดแอพภาครัฐปลอม
โดยตัวแอปจะลักษณะหน้าตาดูน่าเชื่อถือคล้ายแอปจริงแต่จะ ต่างกันแค่ภาพและสีที่ใช้ประกอบให้หลงเชื่อเท่านั้น ลองดูดังตัวอย่างต่อไปนี้
ข้อสังเกตแอปภาครัฐปลอม
1.แอปจะมีการให้ตั้ง PIN ถึง 2 ครั้ง โดยข้อมูลนี้จะถูกโจรนำไปลองใช้ในการใส่เป็น PIN ขณะเข้าแอพธนาคารต่างๆ
2.หาก PIN ที่พิมพ์ในแอพใช้งานไม่ได้ บางกรณีโจรจะถามลูกค้าตรง ๆ เช่น PIN ที่ใส่มาเป็นอันเดียวกับธนาคารหรือไม่ หากไม่ใช่ให้บอก PIN ธนาคาร เพื่อทำการตรวจสอบบัญชีให้สำเร็จ
3.ถ้ายังไม่ได้ PIN โจรอาจบอกให้ลูกค้าโอนเงินจำนวนเล็ก ๆ ระหว่างบัญชีของตนเอง ระหว่างนี้โจรจะสังเกตตัวเลขที่กระพริบเวลาเหยื่อกด PIN บนหน้าจอ หรือในบางครั้งก็อาศัยจังหวะหลังจากที่เหยื่อใส่ PIN แล้ว แต่ยังไม่ได้ปิดแอพธนาคาร ทำรายการโอนเงินต่อเลย
4.หน้าจอสุดท้ายจะเป็นการ Permission 3 อย่าง
- ขอทำตัวเป็นแอปสำหรับผู้พิการ (Accessibility Service) เพื่อให้ตัวแอปสามารถทำงานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ถึงแม้เราจะ kill app ทิ้งไปแล้วก็ตาม และ สามารถแตะหน้าจอในตำแหน่งใด ๆ แทนผู้ใช้งานได้
- ขอทำการถ่ายทอดหน้าจอ (Screen Casting) เพื่อให้แอปสามารถคัดลอกหน้าจอแล้วส่งภาพวีดีโอของหน้าจอเราขึ้นไปยังระบบของโจร ดังนั้นโจรจะสามารถเห็นหน้าจอเราได้ตลอดเวลาไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ที่หน้าไหนก็ตาม!
- ขอเขียนภาพทับโปรแกรมอื่น (System Alert Screen Overlay) เพื่อให้แอปสามารถเขียนภาพใด ๆ ทับบนหน้าจอโทรศัพท์แบบเต็มจอ ผู้ใช้จะมองไม่เห็นว่าโจรกำลังทำอะไรอยู่บนเครื่องของตน และไม่สามารถแตะปุ่มเพื่อปิดเครื่องบนหน้าจอ หรือสลับแอพได้เลย
5.หลังจากที่เหยื่อถูกข่มขู่และหลอกจนหลงเชื่อ เมื่อมีการให้ Permission ของผู้พิการไปแล้ว ตัวแอพจะแอบไปกด Allow การถ่ายทอดหน้าจอเองโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เหยื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกแอบถ่ายทอดหน้าจอ
6.หลังจาก Allow Permission ครบทั้ง 3 ข้อแล้ว หน้าจอโทรศัพท์จะถูกล๊อคทันที เพื่อให้โจรเข้ามาควบคุมและทำรายการกับแอปธนาคารได้โดยเหยื่อไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันโจรจะบอกเหยื่อให้วางโทรศัพท์นิ่ง ๆ ห้ามแตะต้อง
แก๊งปลอยลิงค์หรือปลอยแอปโจรให้โหลด
ในขั้นตอนนี้โจรจะเลิกใช้ความหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกเพื่อหลอกล่อเหยื่อ แต่เปลี่ยนมาหลอกให้เหยื่อเต็มใจในการติดตั้งโปรแกรมแทน น่าจะเพราะว่าโอกาสที่เหยื่อจะไปขอความช่วยเหลือผู้อื่นมีน้อยกว่า นอกจากนั้นตัวโปรแกรมก็มีความสามารถในการซ่อนตัวเก่งมากขึ้นอีกด้วย โดยแอปใหม่ของโจรในครั้งนี้พัฒนาต่อยอดมาจากในยุคก่อนหน้า แต่ปลอมตัวเป็นโปรแกรมยอดนิยมทั่วไป เช่น โปรแกรมดูไลฟ์ โปรแกรมหาคู่ โปรแกรมดูภาพสยิว หรือโปรแกรมแชทยอดนิยมก็ตาม ถ้ายกตัวอย่างดัง ๆ และมีเหยื่อหลายรายคือ Snapchat และ Bumble
แต่หลังทำการติดตั้งไปแล้ว ตัวแอปจะขอใช้สิทธิเป็นแอพสำหรับผู้พิการเช่นเดิม หากให้สิทธิแล้วจะแสดงเหมือนมีโฆษณามาให้เราดู แต่ความจริงกำลังซ่อนตัวเองทำให้หาไม่เจอ และแสดงข้อความอ้างว่า Compatibility problem!APP wil be uninstall! (เกิดปัญหาความไม่เข้ากัน! แอพจะลบตัวเอง!) ในความเป็นจริงแอพได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว และเปิดช่องให้โจรสามารถเชื่อมต่อเข้ามาดูและควบคุมหน้าจอโทรศัพท์เราเมื่อใดก็ได้ หลังจากที่เหยื่อติดตั้งไปแล้ว โจรมักจะทิ้งให้เหยื่อตายใจและใช้เวลาสักพักหนึ่งในการสังเกตพฤติกรรม เช่น ใช้ธนาคารใดบ้าง มีเงินในบัญชีแต่ละธนาคารเท่าไร และจดจำรหัส PIN จากที่เหยื่อกดบนหน้าจอโทรศัพท์
โดยโจรจะแอบดูหน้าจอเหยื่อตลอดเวลา ผ่านไป 2–3 สัปดาห์ จนเหยื่อลืม เมื่อสบโอกาสโจรจะทำการยกเลิกการล๊อคหน้าจอ อีกทั้งสามารถปิดแสงหน้าจอเพื่อไม่ให้เหยื่อรู้ตัว แล้วเชื่อมต่อเข้ามาส่งคำสั่งที่โทรศัพท์ของเหยื่อ ทำการโอนเงินออกจากบัญชีไป เหลือเพียงโทรศัพท์เปล่าๆ ให้เหยื่องงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ที่ร้ายกว่านั้นคือแอปโจรตัวนี้หลังจากติดตั้งแล้ว ไม่สามารถลบออกได้ เมื่อเราพยายามลบแอพมันจะปิดหน้าจอ Setting ทิ้งทันที และถ้าเราพยายาม Factory Reset โทรศัพท์ แอพโจรก็จะถอยออกจากหน้านั้นเองโดยอัตโนมัติอีกด้วย!
สามารถแก้ปัญหาแอปเหล่านี้ได้อย่างไรหากติดตั้งไปแล้ว
วิธีการตรวจแอปเหล่านี้นั้นตรวจสอบค่อนข้างทำได้ยาก เพราะ Android แต่ละรุ่นแตกต่างกันไป คุณ Narun แนะนำให้ท่านลองเข้าไปในเมนูผู้พิการ หรือ Accessibility แล้วตรวจสอบในหมวด Downloaded apps ดูว่ามีรายการแอพใดแสดงขึ้นมาบ้างหรือไม่ ถ้ามีและเปิด On อยู่ โดยที่เราไม่รู้เหตุผล ควรรีบปิดหรือถอนการติดตั้ง
หากท่านโชคร้ายกำลังเป็นเหยื่อของแอปโจรซึ่งไม่สามารถปิดหรือถอนการติดตั้งได้ ผู้เขียนมีคำแนะนำมาให้ 2 ทาง ดังนี้
1.หากท่านเป็นผู้ใช้งานปกติ ขอให้เปิด Airplane Mode โดยเร็วที่สุด เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับ Internet ได้ (รวมถึงถอดซิมและปิด Wifi หากจำเป็น) เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้โจรสามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ จากนั้นนำโทรศัพท์เข้าติดต่อกับศูนย์บริการอย่างเป็นทางการของโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่ครับ
2หากท่านเป็นนักพัฒนาหรือมีความรู้ทางเทคนิค อาจต่อสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์ และเปิด Android Debug Mode จากนั้นใช้คำสั่งดังต่อไปนี้เพื่อถอนการติดตั้ง
- # ทำการตรวจสอบรายชื่อ App ที่ติดตั้งบนเครื่องทั้งหมดด้วยคำสั่ง
adb shell pm list packages - # เมื่อพบชื่อแอพโจร ให้ทำการลบออกด้วยคำสั่ง adb uninstall <package name>
- # เช่น adb uninstall com.mezwyh.owuftjkv
แอปอันตรายควรลบออกจากเครื่อง
- Battery Charging Animations Battery Wallpaper
- Classic Emoji Keyboard
- Battery Charging Animations Bubble – Effects
- Easy PDF Scanner
- Dazzling Keyboard
- Halloween Coloring
- EmojiOne Keyboard
- Smart TV remote
- Flashlight Flash Alert On Call
- Volume Booster Hearing Aid
- Now QRcode Scan
- Volume Booster Louder Sound Equalizer
- Super Hero – Effect
รายชื่อไฟล์ที่โจมตียูสเซอร์ 10 อันดับสูงสุด
- HEUR:Trojan.AndroidOS.Hiddapp.ch
- HEUR:Trojan.AndroidOS.Boogr.gsh
- UDS:DangerousObject.Multi.Generic
- not-a-virus:HEUR:AdWare.AndroidOS.MobiDash.z
- not-a-virus:HEUR:AdWare.AndroidOS.Mobidash.ai
- not-a-virus:HEUR:RiskTool.AndroidOS.Frime.a
- HEUR:Trojan-SMS.AndroidOS.Opfake.a
- not-a-virus:HEUR:RiskTool.AndroidOS.Dnotua.ixj
- not-a-virus:HEUR:AdWare.AndroidOS.Mobidash.ag
- UDS:DangerousObject.AndroidOS.GenericML
สุดท้ายนี้ แอปโจรยุคมีวิธีป้องกันเดียวกันและง่ายมากครับ คือห้าม (เผลอ) ติดตั้งโปรแกรมที่ผู้อื่นส่งมาให้เด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว หากต้องการใช้งาน ขอให้ทำการเปิด Play Store ขึ้นมาด้วยตนเอง แล้วพิมพ์ชื่อแอพที่ต้องการลงไปค้นหา ยอมเสียเวลาเพิ่มดีกว่าเสียเงินหมดบัญชี
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก คุณ Narun Chanyavilas